เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส1
อธิบายคุหัฏฐกสูตร
ว่าด้วยนรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำคือกาย
พระสารีบุตรเถระจะกล่าวอธิบายคุหัฏฐกสูตร ดังต่อไปนี้
[7] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า)
นรชนผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
เมื่อดำรงตนอยู่(อย่างนี้) ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง
ผู้เป็นเช่นนั้นแล ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก
เพราะกามทั้งหลายในโลกไม่เป็นของที่นรชนละได้ง่ายเลย
คำว่า ผู้ข้องอยู่ ในคำว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
กล่าวไว้แล้วข้างต้น อนึ่ง คำว่า ถ้ำ ควรกล่าวถึงก่อน กาย ตรัสเรียกว่า ถ้ำ
คำว่า กาย ถ้ำ ร่างกาย ร่างกายตน เรือ รถ ธง จอมปลวก รัง นคร กระท่อม
ฝี หม้อ หรือนาค นี้เป็นชื่อของกาย
คำว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ได้แก่ ผู้ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพัน
อยู่ในถ้ำ อธิบายว่า นรชน ข้อง คือ ติด เกี่ยว เกาะติด เกี่ยวพัน พัวพันอยู่ในถ้ำ
เหมือนสิ่งของที่ข้อง ติด เกี่ยว แขวน เกี่ยวพัน ติดตรึงอยู่ที่ตะปูข้างฝา หรือที่
ไม้แขวน ฉะนั้น
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า "ราธะ2 ผู้ข้อง ติดอยู่ในความพอใจ
ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอันเป็น
เหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่น ถือมั่น นอนเนื่องในรูป เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้ข้อง ...
ราธะ ผู้ข้อง ติดอยู่ ในความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่น ถือมั่น นอนเนื่องในเวทนา ... ใน

เชิงอรรถ :
1 ขุ.สุ. 25/779-786/486-488
2 ราธะ เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรซึ่งบวชเมื่อแก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :28 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
สัญญา ...ในสังขาร ... ในวิญญาณ เพราะฉะนั้น เราจึงเรียกว่า ผู้ข้อง"1 คำว่า
ผู้ข้อง เป็นชื่อของความเกี่ยวข้อง รวมความว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ
คำว่า ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้ อธิบายว่า ถูกกิเลสเป็นอันมากปิดบังไว้
คือ ถูกราคะปิดบังไว้ ถูกโทสะปิดบังไว้ ถูกโมหะปิดบังไว้ ถูกโกธะปิดบังไว้ ถูก
อุปนาหะปิดบังไว้ ถูกมักขะปิดบังไว้ ถูกปฬาสะปิดบังไว้ ถูกอิสสาปิดบังไว้ ถูก
มัจฉริยะปิดบังไว้ ถูกมายาปิดบังไว้ ถูกสาเถยยะปิดบังไว้ ถูกถัมภะปิดบังไว้ ถูก
สารัมภะปิดบังไว้ ถูกมานะปิดบังไว้ ถูกอติมานะปิดบังไว้ ถูกมทะปิดบังไว้ ถูก
ปมาทะปิดบังไว้ ได้แก่ ถูกกิเลสทุกชนิด ... ทุจริตทุกทาง ...ความกระวนกระวาย
ทุกอย่าง ... ความเร่าร้อนทุกสถาน... ความเดือดร้อนทุกประการ ... อกุสลาภิสังขาร
ทุกประเภท ปิดบัง ปกปิด ปิดล้อม หุ้มห่อ โอบล้อม ห้อมล้อม ครอบคลุม ปกคลุม
บดบังไว้ รวมความว่า ผู้ข้องอยู่ในถ้ำ ถูกกิเลสมากหลายปิดบังไว้
คำว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่ ในคำว่า นรชน ... เมื่อดำรงตนอยู่
ก็จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง อธิบายว่า นรชนเมื่อดำรงตนอยู่ คือ ผู้กำหนัดก็ดำรงตนอยู่
ตามอำนาจราคะ ผู้ขัดเคืองก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจโทสะ ผู้หลงก็ดำรงตนอยู่ตาม
อำนาจโมหะ ผู้ยึดติดก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจมานะ ผู้ยึดถือก็ดำรงตนอยู่ตาม
อำนาจทิฏฐิ2 ผู้ฟุ้งซ่านก็ดำรงตนอยู่ตามอำนาจอุทธัจจะ(ความฟุ้งซ่าน) ผู้ลังเล

เชิงอรรถ :
1 สํ.ข. 17/161/153
2 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึง ทิฏฐิ 62 แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1. ปุพพันตกัปปิกวาทะ ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอดีตมี 18 คือ
(1) สัสสตวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยงมี 4 อย่าง (2) เอกัจจสัสสตวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลกเที่ยง
เป็นบางอย่างมี 4 อย่าง (3) อันตานันติกวาทะ เห็นว่าโลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุดมี 4 อย่าง (4) อมรา-
วิกเขปวาทะ ความเห็นหลบเลี่ยง ไม่แน่นอนมี 4 อย่าง (5) อธิจจสมุปปันนวาทะ เห็นว่าอัตตาและโลก
เกิดขึ้นเองไม่มีเหตุปัจจัยมี 2 อย่าง
2. อปรันตกัปปิกวาทะ ความเห็นกำหนดขันธ์ส่วนอนาคตมี 44 คือ
(1) สัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญามี 16 อย่าง (2) อสัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลัง
จากตายแล้วไม่มีสัญญามี 8 อย่าง (3) เนวสัญญีนาสัญญีวาทะ เห็นว่าอัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญาก็
มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่มี 8 อย่าง (4) อุจเฉทวาทะ เห็นว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญมี 7 อย่าง
(5) ทิฏฐธัมมนิพพานวาทะ เห็นว่ามีสภาพบางอย่างเป็นนิพพานในปัจจุบันมี 5 อย่าง (ที.สี.(แปล)
9/28-104/11-39)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :29 }